วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

‘ฮัสซัน นิอ์มะตุลลอฮฺ’ ประวัติศาสตร์มีชีวิต คนต้นคิดตำราอิสลามมลายูปาตานี

 
 
‘ฮัสซัน นิอ์มะตุลลอฮฺ’ ประวัติศาสตร์มีชีวิต คนต้นคิดตำราอิสลามมลายูปาตานี

‘ฮัสซัน นิอ์มะตุลลอฮฺ’ ผู้บุกเบิกเขียนตำราประวัติศาสตร์อิสลามด้วยภาษามลายู ชีวิตที่อยู่กับการเรียงร้อยถ้อยความเขียนหนังสือ ยกแง่คิดชีวิตบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ตัวอย่างการแก้ไขความขัดแย้งของท่านนะบีมูฮัมหมัด ผู้ที่หวังการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะความสงบสุขคือโอกาสแสดงมารยาท ความคิดและเผยแพร่อิสลาม แต่การเผชิญหน้าด้วยความร...ุนแรง รังแต่จะสร้างศัตรูเป็นระลอกคลื่นไม่มีจุดจบ



คนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงจะคุ้นเคยกับตำราทางด้านประวัติศาสตร์อิสลามที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวีหลายเล่ม แต่จะมีซักกี่คนที่จะรู้ว่า ผู้เขียนตำราเหล่านั้นคือใค
หรือหากเอ่ยชื่อ “ฮัสซัน นิอ์มะตุลลอฮฺ” ก็คงไม่รู้จักอยู่ดี ทั้งที่น่าจะนับได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในวงการศึกษาประวัติอิสลามในพื้นที่ เพราะตำราหลายเล่ม เขาเป็นคนแรกที่เขียนและเรียบเรียงขึ้นมาด้วยภาษามลายูอักษรยาวีที่ใช้สอนอยู่ในโรงเรียนหลายแห่งในปัจจุบัน
แต่หากเอ่ยชื่อหนังสือหรือตำราเรียนประวัติศาสตร์อิสลามที่เกี่ยวกับการปกครองของอิสลาม บางคนก็อาจจะร้องอ๋อขึ้นมาก็ได้



“ฮัสซัน นิอ์มะตุลลอฮฺ” คือนามปากกาของ “นายฮาซัน นิมูฮัมหมัด” โต๊ะอิหม่ามมัสยิดตะลุบัน วัย 70 ปี ที่ใครๆก็ชอบเรียกว่า อุสตาซฮัสซัน นับได้ว่าเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อิสลามผู้ช่ำชองคนหนึ่งของปัตตานี ที่ใช้เวลาร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์อิสลามผ่านภาษามลายูมากว่าครึ่งค่อนชีวิต หรือกว่า 35 ปีมาแล้ว


พบหน้าต่างบานแรกที่ชวนหลงเสน่ห์แห่งประวัติศาสตร์

อุสตาซฮัสซัน นิมูฮัมหมัดเล่าว่า มีญาติรุ่นราวคราวเดียวกันคนหนึ่งชอบอ่านหนังสือนิยาย จึงได้นั่งอ่านหนังสือนิยายไปกับเขาด้วย เลยทำให้ชอบการอ่านหนังสือไปด้วย
“มีวันหนึ่งเดินเข้าร้านหนังสือ พบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘9 บุคคลสำคัญของโลก’ จึงซื้อมาอ่าน เท่าที่จำได้เป็นหนังสือที่เขียนประวัติของอับราฮัม ลินคอร์น, มุสโสลินี, ฮิตเลอร์, มาดามกูรี, เจมส์ วัตต์ ซึ่งชอบมาก รู้สึกทึ่งกับความวิริยะอุตสาหะของมนุษย์ในการเดินไต่จากจุดเล็กๆ จนกลายเป็นตำนานของโลก นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมชอบประวัติศาสตร์” อุสตาซฮัสซัน กล่าว
หลังจากเรียนจบ ป.7 อุสตาซฮัสซัน ก็มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อสาขาอัดดะอฺวะฮฺวัลอูซูลลุดดีน (การเผยแผ่ศาสนาและหลักการศาสนา) ที่มหาวิทยาลัยอัลอิสลามมิยะห์ กรุงมะดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้นี่เองที่อุสตาซฮัสซันได้พบกับหนังสือประวัติของท่านนบีมุฮัมหมัด (ศาสดาแห่งอิสลาม) และหนังสืออื่นๆ อีกมากมายที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อิสลาม กระทั่งจบการศึกษาเมื่อปี 2522 จึงเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับหอบหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลามจำนวนหนึ่งเท่าที่สามารถซื้อเก็บไว้ได้

บุกเบิกเขียนตำราประวัติศาสตร์อิสลามภาษามลายู

หลังกลับจากต่างประเทศ อุสตาซฮัสซัน ได้เป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์อิสลามที่โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา ทีอ.สายบุรี จ.ปัตตานี เรื่องแรกที่ต้องสอน คือ การปกครองของราชวงศ์อับบาซิยะห์ แต่กลับไม่มีตำราใช้สอนนักเรียน อุสตาซฮัสซันจึงใช้วิธีเขียนเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นมาใช้ในการสอน กระทั่งสามารถรวมเล่มเป็นเล่มหนังสือในที่สุด
“ผมตัดสินใจเขียนเพราะตอนนั้นแถวบ้านเราไม่มีหนังสือเรียนประวัติศาสตร์อิสลามที่เขียนด้วยภาษามลายูเลย ก่อนหน้านั้นคงมีแต่หนังสือภาษาอาหรับที่ใช้สอนนักเรียน”
“ช่วงแรกๆ ผมเขียนชี้แจงแต่ละประเด็นอย่างสั้นๆ แล้วค่อยๆเพิ่มเติมข้อมูลรายละเอียดมากขึ้น ภาษาที่ใช้เขียนก็ให้เพียงเพื่อสื่อสารได้เท่านั้น ไม่เน้นความสละสลวย จากนั้นค่อยๆพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วจึงเริ่มตีพิมพ์เป็นตำรา”
หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์อิสลามของอุสตาซฮาซัน ไม่ได้เขียนตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แต่เขียนตามจำเป็นที่ต้องใช้สอนในห้องเรียน

ผลงานเด่น 6 เล่ม ตั้งแต่ยุคเริ่มอิสลามจนถึงยุคฟื้นฟู

สำหรับตำราเล่มแรกที่เขียนขั้น คือ การปกครองของราชวงศ์อับบาซิยะห์ ตามด้วยการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะห์ที่อันดาลุส(สเปน), การปกครองของราชวงศ์อุสมานิยะห์ที่ตุรกี, การปกครองของคุลาฟาอฺอัรรอชิดีน(ศอฮาบะห์ 4 ท่าน), การปกครองของราชวงศ์อุมัยยะห์ที่ชาม(ซีเรีย) และขบวนการฟื้นฟูอิสลาม
“ตำราเรียนประวัติศาสตร์ทั้ง 6 เล่มดังกล่าวใช้เวลาในการเขียนเรียบเรียงนาน 5 ปี”
อุสตาซฮัสซัน เปิดเผยว่า ตำราเรียนประวัติศาสตร์อิสลามข้างต้นได้เขียนขึ้นตามหลักสูตรจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จึงทำให้มีโรงเรียนส่วนหนึ่งติดต่อซื้อตำราเรียนดังกล่าวไปใช้สอนด้วย
“ตำราที่ผมเขียนและเรียบเรียงขึ้นนั้น ตีพิมพ์ไป 1,000 เล่ม ใช้เวลาขายประมาณ 3 ปี”
จากการสอบถามข้อมูลจากร้านขายหนังสือและตำราเรียนที่ใช้ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก็ได้ข้อมูลว่า ในการสอนวิชาประวัติศาสตร์การปกครองของอิสลามสมัยต่างๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่จะใช้หนังสือของมุซตอฟา อับดุลเราะห์มาน ชาวมาเลเซียมาเป็นตำราสอนนักเรียน
แต่ต่อมาเมื่อมีหนังสือของอุสตาซฮัสซันออกมาวางขาย โรงเรียนหลายแห่งก็หันมาใช้ตำราของอุสตาซฮัสซันสอนเด็ก


เน้นเขียนด้วยอักษรยาวีรูปแบบดั้งเดิม

อุสตาซฮัสซัน บอกว่า หนังสือของเขาจะเขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวีรูปแบบดั้งเดิม เช่น คำว่า “มะฮฺกูตอ” ก็จะใช้ตัวอักษร “มีม” “ฮาอฺ” “กาฟ” “วาว” “ตาอฺ” ตามรูปแบบการเขียนดั้งเดิม (อย่างที่เขียนในกีตาบยาวี)
“ในขณะที่รูปแบบการเขียนสมัยใหม่จะเติมตัวอักษร “อลิฟ” หลังตัวอักษร “ตาอฺ” ทำให้ต้องอ่านว่า “มะฮฺกูตา” ซึ่งการเติมตัวอักษร “อลิฟ” ข้างหลังนั้น เป็นอิทธิพลที่ได้รับจากภาษาอังกฤษนั่นเอง”
“ผมก็แค่อยากเก็บรูปแบบการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของภาษามลายูเอาไว้ เพราะช่วงหลังๆ มีการใช้ตัวอักษรรูมี(โรมัน)อย่างกว้างขวาง ทำให้อิทธิพลของตัวอักษรรูมีไหลเข้ามากระทบกับรูปแบบการเขียนด้วยอักษรยาวีไปด้วย” อุสตาซฮัสซัน กล่าว


ผลงานหนังสือประวัติศาสตร์อิสลามเล่มอื่นๆ
นอกเหนือจากตำราเรียนประวัติศาสตร์ทั้ง 6 เล่มดังกล่าวแล้ว อุสตาซฮัสซันก็ยังเขียนเรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์เล่มอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ หนังสือประวัติบุคคลสำคัญของมุฮัมหมัด อิบนุกอซิม อัซซะกอฟีย์ (ราชวงศ์อุมัยยะห์), ซอลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์(ราชวงศ์อับบาซิยะห์) และมุฮัมหมัด อัลฟาติฮ(ราชวงศ์อุสมานียะห์)
รวมทั้งหนังสือประวัติศาสตร์การปกครองของกลุ่มชนต่างๆ ในอันดาลุส(ประเทศสเปน) คือ กลุ่มอุมัยยะห์ กลุ่มนัซรฺ ที่ฆุรนาฏอฮฺและการปกครองในพื้นที่เล็กๆ ของกลุ่มอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีหนังสือประวัติของอัลอัมบิยาอ ซึ่งเป็นเรื่องราวของบรรดารสูลลุลลอฮ(ศาสนทูต) ตั้งแต่นบี(นะบี)อาดัมจนถึงนบีอีซา (เยซู) และหนังสือประวัติของท่านนบีมุฮัมหมัด ซึ่งมี 3 เล่ม ได้แก่ นูรุลยากีน (เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์) อัรรอซูล (ความคิด) และฟิกฮุซีรอฮฺ (ศาสนบัญญัติ)
ทุกวันนี้ แม้ว่าตลอดชีวิตการเป็นครูวิชาประวัติศาสตร์อิสลาม อุสตาซฮัสซันได้เป็นครูสอนมาแล้ว 4 แห่ง คือ โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา โรงเรียนสามารถดีวิทยา โรงเรียนบำรุงอิสลาม และโรงเรียนมุสลิมพัฒนศาสน์ และหยุดพักการสอนหนังสือแล้วเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ แต่ก็ไม่หยุดที่จะเขียน เขายังทยอยเขียนเรียบเรียงประวัติศาสตร์อิสลามแง่มุมอื่นๆ และขยายวงให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ


บทเรียนจากประวัติศาสตร์-แง่คิดในการดำเนินชีวิต

อุสตาซฮัสซัน อธิบายประวัติศาสตร์อิสลามคร่าวๆ ว่า ในยุคของท่านนบีมุฮัมหมัด เราสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตอิสลามที่สมบูรณ์ว่าเป็นอย่างไร ทั้งแง่หลักศรัทธา กฎหมาย เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง แต่หลักการการปกครองบางประการที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ในสมัยท่านนบี ก็ได้รับการสานต่ออย่างสมบูรณ์ในยุคสมัยของบรรดาคอลีฟาอฺ ซึ่งนักค้นคว้าหลายท่านกล่าวกันว่า ยุคของคุลาฟาอฺเป็นยุคที่สังคมอิสลามสงบสันติที่สุดแล้
สมัยการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะห์ ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ไปไกลถึงชมพูทวีป เมืองจีน และยุโรปบางส่วน (สเปนและฝรั่งเศส) และเป็นสมัยที่ความรู้วิชาการได้เริ่มเบ่งบาน เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางการแพทย์ การคิดและการทดลองเกี่ยวกับการบิน โดย อบุลกอซิม อับบาส บิน เปอรนาส ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้
สมัยการปกครองของราชวงศ์อับบาซิยะห์ ศาสนาอิสลามได้แผ่กว้างเข้าไปในยุโรปมากขึ้น เช่น เซอร์เบีย ออสเตรีย ฮังการี ในสมัยนี้เองที่มีสงครามครูเสดเกิดขึ้น หลังจากสงครามอันยืดเยื้อยาวนานได้มีการเจรจาสันติ ให้ชาวยุโรปสามารถมาเรียนรู้ในประเทศอิสลามได้
ในช่วงนั้นเองมีนักคิดชาวยุโรปเดินทางมาเรียนภาษาอาหรับ เพื่อแปลหนังสือเกี่ยวกับวิชาการด้านต่างๆ นำข้อมูลกลับไปยังประเทศของตน เกิดการเคลื่อนไหลของความรู้ครั้งใหญ่ กล่าวกันว่า เพียงแค่ข้อมูลที่นำกลับไปเก็บนั้นสามารถเปิดเป็นมหาวิทยาลัยได้
ในตอนท้ายๆของการปกครองของราชวงศ์อุสมานิยะห์ เป็นยุคที่อิสลามเริ่มเดินถอยหลัง เริ่มมีการแยกศาสนากับความรู้ออกจากกัน ทำให้ไม่ได้ใช้พลังอิสลามในการขับเคลื่อนความรู้วิทยาการต่างๆ รวมทั้งวิถีดำเนินชีวิต กระทั่งการปกครองอิสลามล่มสลายไปในที่สุด ประมาณช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ความล่มสลายของอิสลามนี่เองที่ทำให้เกิดขบวนการฟื้นฟูอิสลามกลุ่มต่างๆ ขึ้น ซึ่งอุสตาซฮัสซันได้เขียนไว้ในตำราเรียนหลายเล่ม ได้แก่ ขบวนการฟื้นฟูอิสลามของกลุ่มมูฮำหมัด อับดุลวะฮฺฮาบ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย, กลุ่มนูรซีย์ ในประเทศตุรกี, กลุ่มหะซัน อัลบันนา ในประเทศอียิปต์, กลุ่มอะบุลอะลา อัลเมาดูดีย์ ในประเทศปากีสถาน และกลุ่มตับลีฆ ในประเทศอินเดีย

แยก‘ศาสนากับสามัญ’ คือความล้มเหลวของการศึกษาอิสลาม

อุสตาซฮัสซัน กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในสังคมของเรามีการแยกวิชาศาสนากับวิชาสามัญออกจากกัน เป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะในความเป็นจริงอัลกุรอานและการปฏิบัติของท่านนบีมุฮัมหมัดเป็นจุดศูนย์กลางของการแตกแขนงวิทยาการด้านต่างๆ ออกไปอย่างหลากหลาย ดังนั้น ศาสนากับความรู้จึงย่อมเป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อแยกขาดจากกันก็จะทำให้พลังที่จะเชื่อมโยงถึงกันอย่างแข็งแกร่งนั้น ก็จะเสื่อมสลายไปด้วย
“สมัยก่อนคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ แพทย์หรือแม่ทัพก็เป็นนักท่องจำอัลกุรอานด้วย แต่ภาพที่เห็นในปัจจุบันคือ คนที่เรียนศาสนาก็จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญแต่เรื่องศาสนา ส่วนคนที่เรียนสายสามัญก็จะเชี่ยวชาญเฉพาะแต่สาขาที่ตัวเองเรียน ไม่ค่อยเชื่อมโยงกลับไปยังศาสนา เหมือนมีกำแพงกั้นระหว่างวิชาศาสนากับวิชาสามัญ”


ยก ‘สัญญาฮุดัยบียะห์’ ตัวอย่างการแก้ไขความขัดแย้

ช่วงหนึ่งในสมัยของท่านนบีมุฮัมหมัด มีการทำสัญญาฮุดัยบียะห์ระหว่างคนมุสลิมในเมืองมะดีนะห์กับชนเผ่ากุร็อยชฺในเมืองมักกะฮฺ เนื่องจากขณะที่ท่านนบีพร้อมคณะกำลังเดินทางไปทำพิธีอุมเราะห์ที่เมืองมักกะฮฺ ก็ถูกกลุ่มชนเผ่ากุร็อยชฺเข้ามาขัดขวาง แม้กลุ่มคนมุสลิมจะมีกำลังต่อสู้ได้แต่ก็ไม่อยากต่อสู้กัน
ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดนองเลือดระหว่างกัน ท่านนบีมุฮัมหมัดจึงยอมรับเงื่อนไข 3 ข้อของชาวกุร็อยชฺ คือ ข้อแรก ในปีนั้นห้ามชาวมุสลิมเข้าเมืองมักกะฮฺ ข้อที่สอง ให้เข้าเมืองมักกะฮฺได้ในปีถัดไปแต่ไม่เกินสามวันและห้ามพกพาอาวุธ ข้อสุดท้าย หากชาวมักกะฮฺหนีเข้าเมืองมะดีนะห์ เมืองมะดีนะห์ต้องส่งคนๆ นั้นกลับคืนมักกะฮฺ แต่หากมีชาวมะดีนะห์เข้าไปเมืองมักกะฮฺ ทางเมืองมักกะฮฺก็จะไม่ส่งคืนกลับไป
อุสตาซฮัสซัน กล่าวว่า ข้อสัญญาดังกล่าว กลุ่มคนมุสลิมเสียเปรียบกลุ่มชาวกุร็อยชฺ แต่ท่านนบีมุฮัมหมัดก็ยอมรับข้อเสนอข้างต้นไว้ เพราะหวังถึงการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงนั้น จะสร้างศัตรูเป็นระลอกคลื่นไม่มีจุดจบ แต่การยอมกันบ้างในจุดที่ยอมได้ ก็จะทำให้ยังคงพูดคุยกันและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ กลุ่มคนมุสลิมก็จะมีโอกาสในการแสดงออกถึงมารยาทและความคิดอิสลาม ได้มีโอกาสในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม อันนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีต่อกันในที่สุด


เข้าใจประวัติศาสตร์อิสลาม-เข้าใจชีวิตที่สันติ

อุสตาซฮัสซัน กล่าวว่า การเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อิสลาม จะส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจและมีกำลังใจที่ดี เพราะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อิสลามเหมือนกับเรียนรู้การดำเนินชีวิตของมนุษย์จากตัวอย่างที่ปรากฏในประวัติศาสตร์
“เส้นทางประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น ทำให้มองเห็นได้ว่า เมื่อมุสลิมใช้อิสลามเป็นแนวทางดำรงชีวิตก็จะประสบกับความสงบสันติและรุ่งเรือง แต่เมื่อหลุดจากแนวทางอิสลามก็จะกับพบกับความอลหม่านวุ่นวาย ประวัติศาสตร์ทำให้มนุษย์เข้าใจความล้มเหลวและเข้าใจความยิ่งใหญ่”
แต่ขณะเดียวกัน ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์อิสลามอย่างแท้จริงนั้น จะเดินควบคู่กับความนอบน้อมถ่อมตน ไม่หยิ่งยโสและอคติต่อผู้อื่น เพราะมุสลิมที่เข้าใจอิสลาม จะตระหนักได้ว่าความยิ่งใหญ่เหล่านั้นมาจากอัลลอฮฺ
“ความนอบน้อมของมนุษย์ต่ออัลลอฮฺจะส่งผลให้เขาเป็นคนอ่อนน้อม ใจกว้างเคารพและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ และดำรงชีวิตอยู่ในขอบข่ายของความสงบสันตินั่นเอง”



บทความโดย; อาจารย์ ซอฟียะห์ ยียูโซ๊ะ
ดูเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น